Art and craft, Play and learn, Talk to Parents

6 กิจกรรมน่าเล่นเพื่อช่วยลูกเล็กให้รักการเขียน

How-to-get-your-child-to-get-ready-to-write

คุณพ่อคุณแม่เคยเจอปัญหาลูกๆ ถูกคุณครูที่โรงเรียนตำหนิ(หรือบางทีพ่อแม่ก็ดุเอง) ว่าเขียนหนังสือไม่สวย หรือเด็กๆ ที่บ้านขี้เกียจและไม่ชอบการเขียนบ้างไหมคะ? และหลายๆ ครั้งปัญหาที่ดูเหมือนจะเล็กๆ นี้ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นได้ เช่นการถูกตำหนิบ่อยๆ จนเด็กพาลไม่อยากเรียน ไม่อยากอ่านเขียนอีก ฟังดูแล้วไม่น่าจะเป็นเรื่องดีเลยใช่ไหมล่ะคะ แต่ก่อนที่เราจะไปพบวิธีช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับเด็กๆ ครูพิมคิดว่าเรามาดูกันที่สาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้กันก่อนดีกว่าค่ะ

สำหรับสาเหตุของลายมือที่ไม่สวย ความขี้เกียจ และการไม่ชอบการเขียนนั้น อาจมีได้หลายปัจจัย ทั้งจาก…

  • ถูกบังคับให้เขียน
  • ไม่ชอบการขีดเขียนเป็นพื้นนิสัย
  • มีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อการเขียน (เช่น ถูกตีมือเวลาเขียนไม่สวยหรือไม่ถูกต้อง)
  • ไม่ถนัดงานในลักษณะนี้ (พยายามแล้วแต่ทำได้ไม่ดี)
    ฯลฯ

และยังมีเด็กจำนวนไม่น้อย ที่พบว่าเรื่องการเขียนดูยากเย็นและไม่ชวนพิสมัย ด้วยสาเหตุจากการที่ “พัฒนาการของกล้ามเนื้อมือยังไม่พร้อมสำหรับการเขียน” และไม่ได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้องมาตั้งแต่เล็กๆ ทำให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องเขียน จึงไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร ซึ่งถ้าเป็นที่ปัญหานี้ ครูพิมคิดว่ามันคงน่าเศร้ามากเลยหละค่ะ เพราะเป็นเรื่องที่เราสามารถป้องกันได้แต่กลับไม่ได้ทำเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์(เปิดการ์ดซะอย่างนั้นเลยค่ะ หุหุ)

ใส่ใจกล้ามเนื้อมัดเล็ก
photo cr: first5california.com

ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวของครูพิมเองด้วยค่ะ เนื่องจากครูพิมมีปัญหาเรื่องสุขภาพกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงมาตั้งแต่เล็กๆ แต่ไม่มีใครทราบ รวมทั้งตัวครูพิมเองด้วย จนมาเข้าใจก็ตอนที่มาศึกษาเรื่องพัฒนาการเด็กนี่หละค่ะ เลยคิดว่ายังไงก็ต้องเอามาแบ่งปันให้ทุกๆ คนได้ทราบกัน จะได้เป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กๆ และตัดสาเหตุบางอย่างที่อาจทำให้เกิดปัญหาในการเขียนได้

และวิธีการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าตัวเล็ก ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยค่ะ แถมยังเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและเด็กๆ ก็น่าจะชื่นชอบอยู่แล้วด้วย เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องจัดตารางให้กับกิจกรรมเหล่านี้บ่อยขึ้นสักหน่อย โดยเฉพาะช่วงวัย 2-3ปี ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กๆ เหล่านี้ค่ะ

ทีนี้มาดูกันนะคะว่า กิจกรรมที่ครูพิมขอแนะนำนั้น มีอะไรกันบ้าง สนุกสนานแค่ไหน และจะช่วยเจ้าตัวเล็กได้อย่างไรบ้าง

กิจกรรมที่ 1 อาบน้ำตุ๊กตา

วิธีการ – เตรียมอ่างอาบน้ำ ตุ๊กตาเด็กเล่น(แบบที่เปียกน้ำได้) และอุปกรณ์อาบน้ำเช่น ฟองน้ำ สบู่ แปรงสีฟัน และอื่นๆ เท่าที่จะหาได้หรืออยากจะให้ลูกได้เล่น จากนั้นก็ให้เด็กๆ ลงมืออาบน้ำตุ๊กตา โดยมีกฎว่า ให้อาบให้ทั่ว (จะบอกว่า เหมือนที่แม่อาบให้หนู แบบนี้ก็ได้ค่ะ)
Tips – กิจกรรมนี้ เด็กๆ จะได้ลงมือสิ่งต่างๆ ผ่านมือเล็กๆ ของตัวเอง จากการใช้มือสัมผัสวัสดุที่หลากหลาย เล่นกับน้ำ และเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วยการสร้างกฎเล็กๆ อย่างการอาบให้สะอาด ซึ่งแน่นอนว่าเด็กๆ จะต้องใช้นิ้วมือถูตามซอกนั้น ซอกนี้ หยิบจับอุปกรณ์เช่นฟองน้ำ แปรงสีฟัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อมือของเด็กๆ ทั้งสิ้นค่ะ

กิจกรรมอาบน้ำตุ๊กตา
photo cr: happyhooligans.ca
กิจกรรมที่ 2 คีบบอลใส่ตะกร้า

วิธีการ – เตรียมที่คีบน้ำแข็ง (จะเป็นพลาสติกหรือสแตนเลสก็ได้ค่ะ แต่ต้องไม่คมและมีขนาดเหมาะมือเด็กๆ ) ตะกร้า 2 ใบ และ ลูกบอลขนาดเล็กหรือจะเป็นลูกปิงปองก็ได้ค่ะ จากนั้นก็ให้เด็กๆ คีบจากตะกร้าหนึ่ง ไปยังอีกตะกร้าหนึ่ง หรือถ้าใครอยากพลิกแพลงวิธีเล่นให้สนุกขึ้นก็ไม่ว่ากันค่ะ
Tips – หากเด็กๆ สามารถคีบวัสดุชิ้นใหญ่ๆ ได้คล่องแล้ว ให้ลดขนาดลงเรื่อยๆ ในครั้งต่อไป ก็จะยิ่งช่วยฝึกกล้ามเนื้อได้มากขึ้นค่ะ แถมยังได้ฝึกเรื่องสมาธิด้วยนะคะ

กิจกรรมที่ 3 ทำความสะอาดบ้าน

วิธีการ – แหม่ กิจกรรมนี้คุณแม่เห็นชื่อแล้วยิ้มเลยใช่มั้ยคะ แต่ครูพิมไม่รับประกันนะคะว่า จะเป็นการช่วยให้สะอาดขึ้นมั้ย แต่ที่แน่ๆ คือ เด็กๆ ได้พัฒนากล้ามเนื้อมือแน่นอนค่ะ อุปกรณ์และงานบ้านที่ครูพิมขอนำเสนอก็เช่น การเช็ดกระจก และการเช็ดโต๊ะ ตู้ เตียง หรือเฟอร์นิเจอร์ผิวเรียบๆ ที่เด็กๆ พอจะเช็ดทำความสะอาดได้ง่ายๆ ค่ะ โดยคุณแม่ควรเตรียมผ้าผืนเล็กๆ หรือฟองน้ำขนาดเหมาะมือ พร้อมกับกระบอกฉีดน้ำให้เด็กๆ จากนั้นก็สาธิตการเช็ดพอเป็นพิธี แล้วที่เหลือก็ปล่อยเด็กๆ ลงมือ(ช่วย) ได้เลยค่ะ
Tips – เด็กโตอาจให้ลองช่วยกวาดหรือถูพื้นได้นะคะ เพราะจะได้ใช้กล้ามเนื้อหลายส่วนมากกว่า ในการบังคับทิศทางและจับไม้ถูพื้นค่ะ และต้องไม่ลืมนะคะว่า จุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการฝึกกล้ามเนื้อมือ เพาะฉะนั้นอย่าใส่ใจกับผลงานมากนักนะคะ และบางครั้งอาจต้องถึงกับทำใจล่วงหน้าค่ะ ฮ่าๆๆ

กิจกรรมที่ 4 คั้นน้ำผลไม้

วิธีการ – เตรียมผลไม้มีเปลือกที่คั้นได้ง่ายๆ อย่างเช่น ส้มหรือมะนาว หลายๆ ผล พร้อมกับที่คั้นผลไม้แบบที่ใช้มือคั้นนะคะ ไม่เอาแบบที่มีด้ามกดหรือแบบไฟฟ้า เพราะจะไม่เกิดประโยชน์กับเด็กๆ ในเรื่องที่เราต้องการค่ะ จากนั้นก็สาธิตการคั้นให้เด็กๆ ดู แล้วก็ลองปล่อยให้น้องๆ ได้คั้นผลไม้ด้วยตัวเอง เอาสัก 4 – 5ลูกก็พอค่ะ
Tips – ก่อนจะทำการคั้น ให้เด็กๆ ได้ฝึกประสาทสัมผัสจากการจับและสังเกตเปลือกผลไม้ แล้วลองดมกลิ่นดูก่อนก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่น้อยเลยค่ะ

กิจกรรม 5 เล่นแป้งปั้น

วิธีการ – เตรียมแป้งโดว์หรือดินน้ำมัน (ถ้าเป็นเด็กเล็ก 2- 3 ปี แนะนำให้ใช้แป้งโดว์เพราะนิ่มกว่าค่ะ) ให้เด็กๆ ปั้นอย่างอิสระแบบที่เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่ให้เพิ่มขั้นตอนการนวด แป้งขึ้นมาก่อน โดยอาจจะบอกเด็กๆ ว่า มาช่วยกันนวดแป้งแล้วนับ 1-20 ก่อน ค่อยเอาไปปั้นนะคะ และพยายามให้เด็กๆ ได้ใช้มือในการขึ้นรูปง่ายๆ เอง เช่นปั้นเป็นกลมๆ ปั้นเป็นเส้นๆ สลับกับการใช้แม่พิมพ์สำเร็จรูป ซึ่งแบบนี้เด็กๆ ก็จะได้ใช้กล้ามเนื้อมือมากขึ้นค่ะ

กิจกรรมปั้นแป้งโดว์
photo cr: amazon.in/Asianhobbycrafts-Cool-Value-Dough-Above
กิจกรรม 6  ขีดๆเขียนๆ ไวท์บอร์ด

วิธีการ – เตรียมกระดานไวท์บอร์ดขนาดใหญ่พร้อมปากกาแท่งใหญ่ (ขนาดสำหรับเด็กมีขายทั่วไปค่ะ) จากนั้นให้เด็กๆ ขีดเขียนอย่างอิสระ หรืออาจจะนำภาพต้นแบบอย่างง่ายมาให้เด็กลอกลายตามก็ได้นะคะ (แนะนำให้เลือกลายง่ายๆ เช่นพวกรูปทรงเรขาคณิตก่อนค่ะ) ซึ่งวิธีการนี้จะมีความใกล้เคียงกับการเขียนจริงในช่วงวัยอนุบาล เพียงแต่เราจะไม่ใช่ดินสอหรือปากกาที่มีขนาดเล็กในให้เด็กๆ เขียนเท่านั้นเองค่ะ
Tips – สามารถเปลี่ยนจากกระดานและปากกาไวท์บอร์ด เป็นชอล์กแบบไร้สารพิษกับกระดานดำก็ได้นะคะ หรือจะใช้เมจิกแท่งใหญ่กับกระดาษเปล่าแผ่นโตๆ ก็ได้ค่ะ แต่หัวใจสำคัญคือต้องใช้อุปกรณ์สำหรับเขียนที่มีขนาดใหญ่ให้เด็กๆ กำได้อยู่ค่ะ และเมื่อเด็กมีความเคยชินกับการขีดเขียนหรือสามารถบังคับทิศทางได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว จึงค่อยเปลี่ยนปากกาให้มีขนาดเล็กลงตามลำดับค่ะ ซึ่งโดยปกติก็จะเป็นช่วงเข้าอนุบาลพอดีค่ะ

เป็นอย่างไรบ้างคะ กับทั้ง 6 เทคนิคที่ครูพิมนำมาฝากกัน จริงๆ แล้วหากเราจัดเป็นตารางกิจวัตรประจำวัน สลับกันไปเรื่อยๆ แบบนี้ ครูพิมเชื่อว่าเด็กๆ จะต้องมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมือและนิ้วที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนแน่นอน นอกจากนี้ยังได้สอนเรื่องของสมาธิให้กับเด็กๆ และที่สำคัญคือ เป็นการใช้เวลากับลูกๆ ได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วยนะคะ หากว่าทำได้ตามนี้ ครูพิมรับรองว่าการเขียนในวัยอนุบาลก็จะไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวลใจอีกต่อไปค่ะ…

ด้วยรักและห่วงใยนิ้วมือเล็กๆ
ครูพิม

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *