Talk to Parents

10 คำพูดสร้างแรงจูงใจให้ลูกเป็นเด็กดี

10movitavingเวลาที่เราอยากจะให้เด็กๆ เป็นเด็กดี หรือเวลาที่เด็กๆ จะทำอะไรถูกใจเรา เราชมลูก หลาน หรือเด็กๆ ในปกครองอย่างไรกันบ้างคะ? ครูพิมคิดว่า คงจะหนีไม่พ้นคำสั้นๆ ง่ายๆ ที่ฟัง(เหมือนจะ) ดูดีตลอดกาลอย่าง

  • “ดีมากจ้ะ”
  • “เด็กดี”
  • “เก่งมาก”
  • “ดีที่สุดเลย”

และคำพูดอื่นๆ ในทำนองนี้ใช่ไหมล่ะคะ?

แล้วเราก็มักจะคิดว่า การชมแบบนี้แหละ ลูกน่าจะชอบ รู้สึกดี และจะเป็นเด็กดี เด็กเก่ง และทำตามสิ่งที่เราบอก (หรือสั่ง)แน่นอน

ซึ่งเราก็มักจะพบในภายหลังว่า ทั้งๆ ที่เคยชมไปแล้วแท้ๆ ใช้ทั้งไม้แข็ง ไม้อ่อน แต่ก็ยังไม่วายกลับไปทำพฤติกรรมที่ต้องถูกดุอีก ทำไมนะ ทำไม พ่อคุณแม่สงสัยเหมือนกันไหมคะ?

ก็เพราะในความเป็นจริงแล้ว คำพูดชมเชยในลักษณะนี้ ไม่ได้จัดว่าเป็นคำพูดสำหรับการชมเชยที่แท้จริง เพราะในทางจิตวิทยาแล้ว การชมเชยในลักษณะทั่วๆ ไปแบบนี้ ไม่สามารถที่จะช่วยส่งเสริม พฤติกรรมที่ดีในอนาคตได้ เนื่องจากมันไม่มีการเชื่อมโยงกับพฤติกรรม และยังเป็นการให้น้ำหนักไปที่เรื่องราว “ทั่วๆ ไป” มากกว่าเป็นการบอกให้เด็กรู้ว่า “อะไร” คือสิ่งที่เขาทำแล้วได้คำชมนี้

อีกทั้งการชมที่เหมาะสม ควรเป็นการชมที่จะสร้างแรงจูงใจจากภายใน (อยากทำซ้ำอีกด้วยตัวเอง) มากกว่าคำพูดที่สร้างแรงจูงใจจากภายนอก (ทำเพราะอยากจะได้คำชม)

womenfitnessmag

ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างกันนะคะว่า คำพูดชมเชยและให้กำลังใจแบบไหนกันนะ ที่ควรเลือกมาใช้แทนที่คำชมแบบเดิมๆ
วันนี้ครูพิมลองยกมาฝากกัน 10 คำพูดด้วยกันค่ะ ซึ่งน่าจะครอบคลุมได้หลายสถานการณ์ทีเดียว มาดูกันค่ะว่า มีคำพูดอะไรบ้าง

1) ขอบคุณนะจ๊ะที่ช่วยแม่/พ่อ/ครู ……(ตามด้วยพฤติกรรมที่เด็กทำ)

เช่น ขอบใจนะจ๊ะที่ช่วยแม่ล้างจาน ขอบใจนะลูกที่ช่วยพ่อรดน้ำต้นไม้

2) โอ้โห ลองดูผลงานของลูกสิ (พูดแล้วชวนให้เด็กมองไปยังผลงานของตัวเอง)

เช่น ดูสวนที่ลูกช่วยพ่อรดน้ำสิ ต้นไม้ออกดอกสวยเชียว

3) แม่/พ่อ/ครู เห็นจ้ะว่าลูกพยายามแค่ไหน/ลูกตั้งใจแค่ไหนในการ….(พฤติกรรมที่เด็กทำ)

เช่น ครูเห็นนะจ๊ะว่าหนูตั้งใจเรียนมากแค่ไหน แม่เห็นแล้วจ้ะว่าลูกตั้งใจอ่านหนังสือมากเลย

4) ลูกควรจะภูมิใจในตัวเองนะ ที่….(ตามด้วยพฤติกรรมที่เด็กทำ)

เช่น ลูกควรจะภูมิใจในตัวเองนะจ๊ะ ที่ตั้งใจเรียนหนังสือจนได้คะแนนขนาดนี้

5) เรื่องนี้/งานนี้ยาก/เยอะอยู่นะจ๊ะ แต่ลูกก็ทำได้ดีเลย

เช่น จานมันเยอะอยู่นะจ๊ะ แต่ลูกก็ช่วยแม่ล้างหมดเลย เก่งจริงๆ

6) แม่/พ่อ ชอบที่จะอยู่กับลูกแบบนี้จัง

ประโยคนี้อาจจะใช้ในสถานการณ์ที่เด็กๆ ทำตัวดี ไม่สร้างความวุ่นวายใจ เช่น เล่นอยู่ในที่ของตัวเองอย่างเรียบร้อย หรือเป็นช่วงที่ไม่งอแงทั้งที่ปกติอาจจะเป็น การพูดแบบนี้เด็กๆ จะรู้สึกสะท้อนกลับเช่นกันค่ะว่า เขาก็รู้สึกดีเหมือนกันที่อยู่ในสถานการณ์ที่อบอุ่นแบบนี้

7) ลูกยิ้มสวยมากจ้ะ

ประโยคนี้เราได้ยินกันบ่อยในหนังฝรั่งค่ะ แต่สำหรับในไทยแล้ว ครูพิมแทบไม่ได้ยินการชมรอยยิ้มหรือความอารมณ์ดีของลูกๆ เท่าไหร่เลย ซึ่งอันที่จริง การชมในลักษณะนี้จะช่วยให้เด็กๆ เห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้สึกดีกับการทำให้ผู้อื่นมีความสุขค่ะ เรื่องนี้ครูพิมขอยกตัวอย่างจากสาวน้อยคนหนึ่ง เธอเป็นเด็กผู้หญิงผมหยิกเป็นลอน ซึ่งมักถูกใครๆ ทักว่าเป็นเด็กผู้ชาย แต่ครอบครัวของเธอไม่เคยคิดเช่นนั้น และบอกว่าผมของเธอสวยและเหมาะกับเธอ วันหนึ่งครูพิมมีโอกาสคุยเล่นกับเธอ ครูพิมถามว่า “Do you like your hair?” เธอตอบด้วยรอยยิ้มพร้อมน้ำเสียงมั่นใจว่า “Yes, I’m proud of myself” เป็นไงคะ ครูพิมได้ฟังก็ทั้งอึ้งในความคิดของเธอ และรู้สึกประทับใจในการปลุกฝังของผู้ปกครองที่ทำให้เธอ(ที่มีอายุแค่ 4 ขวบ) เห็นคุณค่าในตัวเองได้ขนาดนี้

8) ช่างสังเกตดีจังเลยจ้ะ

ประโยคนี้อาจจะนำมาใช้เมื่อลูกพูดถึงเรื่องราวหรือชี้ให้เราเห็นอะไรสักอย่างที่มีความละเอียดหรือเล็กๆ น้อยๆ จนเราอาจจะมองข้าม แม้บางครั้งไม่ใช่เรื่องที่ให้ประโยชน์อะไรโดยตรง เช่น เมื่อเด็กบอกว่า “หนูว่าดอกไม้มันออกดอกเพิ่มแล้วนะคะ” หรือ “พ่อฮะ อันนั้นคือรถบัสแบบในหนังสือใช่มั้ยฮะ” ซึ่งการตอบสนองเด็กๆ ที่ง่ายที่สุดและยังให้ประโยชน์ทางความรู้สึกด้วยก็คือ การชมว่าเขาช่างสังเกตนั่นเองค่ะ

9) ลูกดูแล (ของใช้/ของเล่น) ได้ดีมากเลย

เช่น เราซื้อของเล่นให้ แล้วลูกทะนุถนอม หรือเล่นอย่างระมัดระวัง เราก็ควรจะให้คำชมบ้างเป็นครั้งคราวค่ะ ดีกว่าการละเลยจากการที่คิดไปว่ารักษาของก็เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว  หรือรอแต่จะตำหนิเมื่อมันเสียหายไปแล้วเพียงอย่างเดียวค่ะ

10) ลูกทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นเยอะเลย หรือ ขอบคุณมากนะจ๊ะที่ทำตัวน่ารักขนาดนี้ ทั้งๆ ที่แม่/พ่อยุ่งมากเลย

ประโยคนี้เรานำไปใช้ในกรณีที่อยู่ในสถานการณ์ยุ่งยากบางอย่าง แล้วเด็กๆ ไม่ได้สร้างภาระให้เราเพิ่ม หรือกลับช่วยให้ทุกๆ อย่างคลี่คลายได้ สิ่งที่เราควรจะทำ ก็คือการชมเชยเขานะคะ เพราะเราต่างก็รู้ดีว่า การที่ลูกไม่ก่อกวนในสถานการณ์คับขับนี้ เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว (ข้อนี้คุณพ่อคุณแม่อาจคุ้นๆ จากในภาพยนตร์เรื่อง Inside Out ซึ่งแม่ของไรลีย์ก็พูดกับเธอในทำนองนี้ เมื่อตอนที่ต้องย้ายบ้านนั่นเองค่ะ)

parentingsquad

เป็นยังไงกันบ้างคะ สำหรับประโยคทองสำหรับการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้เด็กๆ ทำพฤติกรรมที่ดีซ้ำๆ และลดพฤติกรรมที่น่าปวดหัวลง

ครูพิมหวังว่าคุณพ่อคุณแม่จะชื่นชอบและได้หยิบไปใช้กันบ้างนะคะ หลายๆ ประโยคเราอาจยังนึกภาพไม่ออกว่าจะพูดออกมาได้อย่างไร แต่สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝนกันได้ค่ะ และเราอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ทุกประโยค เพียงแต่อย่าลืมนึกถึงบ้างเมื่อมีโอกาสที่เหมาะสม เท่านี้ครูพิมก็ดีใจแทนเด็กๆ แล้วค่ะ แล้วรอดูกันนะคะว่า หลังจากที่เราเคยชินกับการพูดแบบนี้แล้ว ลูกๆ ที่น่ารักของเรา จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปอย่างไร…

ครูพิม ณัฏฐณี   สุขปรีดี

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศักยภาพเด็กเล็กและการเลี้ยงลูกเชิงบวก

Facebook.com/PimAndChildren

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *