Talk to Parents

3 วิธีปราบเด็กดื้ออย่างไรโดยไม่ใช้การลงโทษ

ดื้อแบบนี้ ต้องลงโทษสิ ถึงจะได้หลาบจำ! ฮันแน่ คุณพ่อคุณแม่ท่านไหน มีความคิดนี้แวบขึ้นมาในหัวอยู่บ่อยๆ บ้างคะ? ยอมรับมาได้ค่ะไม่ว่ากัน เพราะการลงโทษด้วยการตี การตำหนิ หรือการลดสิทธิต่างๆ ของเด็ก เมื่อเด็กทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก อาจจะเป็นวิธีการที่ผู้ปกครองหรือครูหลายๆ ท่านเลือกใช้เป็นวิธีแรกๆ เพราะวิธีการนี้มักจะให้ผลที่รวดเร็วและจัดการสถานการณ์ได้ตามที่เราต้องการใช่ไหมล่ะคะ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เราแทบจะไม่ต้องคิดอะไรมากมายนัก ในการใช้วิธีนี้ “กำราบ”เด็กๆ

แต่เรื่องราวของการหยุดพฤติกรรมอันน่าปวดหัวของเด็กๆ ด้วยการลงโทษนั้น มักจะไม่จบลงอย่างง่ายๆ ในระยะยาว และเรามักจะพบว่า เด็กๆ ยังคงทำพฤติกรรมนั้นซ้ำๆ แต่อาจเปลี่ยนรูปแบบไป หรือไม่ก็มีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้น นั่นเป็นเพราะหลายๆ ครั้ง การแก้ปัญหาด้วยการลงโทษนั้น ไม่ได้ช่วยให้เด็กเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของการลงโทษ และไม่ได้สร้างพฤติกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น วันนี้ ครูพิมจึงอยากนำเสนอทางเลือกในการปรับพฤติกรรมลูกเล็กเด็กแดงทั้งหลายที่อาจใช้เวลามากกว่า แต่ได้ผลดีกว่าในระยะยาว มาลองให้พิจารณากันดู ถึง 3 ตัวเลือกด้วยกันค่ะ

1) ปรับพฤติกรรมลูกด้วยการหาต้นตอทางอารมณ์ : เด็กที่ทำพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก โดยส่วนมากมักมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นภายในใจ หรืออยู่ในสภาวะที่กำลังมีอารมณ์ในทางลบ แต่เรามักจะรีบมองว่าเด็กทำพฤติกรรมนั้นเพราะเป็น “เด็กดื้อ” หรือ “เด็กไม่ดี” และรีบตัดสินแล้วลงโทษ ทำให้บางครั้ง เราพลาดที่จะทราบสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมนั้น และทำให้ขาดโอกาสที่เราจะได้สอนเด็กจัดการกับอารมณ์ของตนเอง

2) การแก้ปัญหาที่แท้จริง ต้องมีการบอกทางออกหรือวิธีแก้ไขให้กับเด็ก : การลงโทษ อาจจะทำให้เด็กจดจำถึงสิ่งที่ตนได้ทำผิด แต่ก็ไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ค่ะ เพราะเด็กจะคิดแต่เพียงว่า ทำแบบนั้น ทำแบบนี้ แล้วจะถูกลงโทษ แต่ไม่เข้าใจว่าเพราะเหตุ และเขาควรจะทำอย่างไร โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ต่ำกว่า 6 ปี อาจจะยังไม่สามารถเชื่อมโยงพฤติกรรมที่ตัวเองทำ กับการลงโทษได้ เด็กจึงแค่หยุดทำสิ่งนั้นในขณะนั้นๆ เท่านั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกใช้แทนการลงโทษ จึงควรเป็นการ ให้ทางเลือกหรือเสนอวิธีการที่ดีกว่าให้กับลูก เช่น “เราไม่ปาของแบบนี้นะลูก แม่อยากให้หนูหยิบแล้ววางเบาๆ แบบนี้” เป็นต้นค่ะ

3) ทำความเข้าใจถึงข้อจำกัดของลูกในการจัดการกับพฤติกรรมของตนเอง : เด็กเล็กๆ นั้น ยังมีข้อจำกัดจากการที่พัฒนาการของสมองยังไม่เติบโตเต็มที่ ทำให้บางครั้ง การจะหยุดทำพฤติกรรมบางอย่างนั้นดูเป็นเรื่องยากเหลือเกิน การรับฟังเพียง “คำสั่ง” จากพ่อแม่ จึงไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจหรือยับยั้งตัวเองได้ เช่น เราอาจจะบอกลูกว่า อย่ากัดน้อง แต่เด็กก็ไม่สามารถทำได้ตามที่เราบอก กรณีนี้ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องลงไปช่วยเหลือในการหยุดพฤติกรรมนั้น ด้วยการจับเด็กออก หรือหยุดการกระทำก่อนที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเพิ่มงานให้กับเรา แต่จะช่วยให้ลูกลดพฤติกรรมดังกล่าวนั้นได้ในระยะยาว เมื่อเขามีความสามารถในการระงับยับยั้งตนเองได้มากขึ้นนั่นเองค่ะ

 

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *