ฺBooks & Movies

“Inside Out” หนังดีที่เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ยิ่งควรดู!

insideout_featuredpostครูพิมเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์แบบเด็กๆ มากค่ะ

และจริงๆ ก็ไม่ใช่แค่ภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการอ่านนิทาน และวรรณกรรมเยาวชนต่างๆ ด้วย เพราะเรื่องราวในหนังสือหรือภาพยนตร์เหล่านี้ ไม่เพียงแต่ให้ความบันเทิงกับเด็กๆ และผู้อ่านอย่างครูพิมเท่านั้น แต่มันยังช่วยให้เรา “เข้าถึง” และ “เข้าใจ” ความคิดและความรู้สึกของเด็กๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย (แถมยังช่วยให้เรามีช่วงเวลาที่ยังรู้สึกเป็นเด็กอยู่เสมอ อิอิ)

และหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดที่ครูพิมได้ไปดูมาหมาดๆ นี้ ก็ทำให้ครูพิมอดไม่ได้ที่จะนำเอาสิ่งที่ได้รับจากภาพยนตร์เรื่องนี้มาแบ่งปันกัน ในมุมมองของนักจิตวิทยาที่น่าจะทำให้สิ่งที่ซ่อนอยู่ในเรื่องราวสุดซึ้งเรื่องนี้ มีคุณค่าและความหมายต่อผู้ชมมากยิ่งขึ้น
Inside Out เป็นภาพยนตร์ ที่ว่าด้วยเรื่องราวภายในหัวอันประกอบด้วยอารมณ์หลัก 5 ชนิด (ซึ่งทางผู้จัดทำคัดเลือกมาจากอารมณ์พื้นฐาน ของมนุษย์ที่มี 27 ชนิดค่ะ) ได้แก่ Joy, disgust, anger, sad, และ fear ของเด็กหญิงวัย 11 ปีคนหนึ่ง ซึ่งอาศัยอยู่กับพ่อและแม่ด้วยความรักและอบอุ่นมาตลอดเวลา 11 ปี จนกระทั่งถึงวันที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปยังเมืองใหม่ การเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ และเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสมองของสาวน้อย ทำให้เธอมีความเปลี่ยนแปลงมากมายทางบุคลิกภาพ จนนำพาให้เธอกลายเป็นเด็กที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้านในที่สุด

อันที่จริงแล้ว เรื่องราวของ Inside Out มีทีมงานที่เป็นทั้งนักจิตวิทยา แพทย์ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาอื่นๆ ซึ่งทำให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวของสิ่งที่เรียกว่า “สมอง-อารมณ์-ความคิด” ในเชิงวิทยาศาสตร์ได้อย่างง่ายดาย (หรือง่ายขึ้น) ซึ่งในส่วนนี้ครูพิมเห็นว่ามีนักวิจารณ์พูดถึงกันแล้วไม่น้อย แต่สิ่งที่ครูพิมขอพูดถึงแบบไม่มีกั๊กและมั่นใจว่ายังไม่ค่อยใครพูดถึงนัก คือสิ่งที่เป็น “หัวใจ” สำคัญ ที่ครูพิมอยากไฮไลท์เผื่อว่าคนอาจไม่รู้ว่า เฮ้ย…นี่คือสิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามบอกเรานะ และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเข้าใจในครอบครัว ที่ครูพิมคิดว่าจะมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจเด็ก และเข้าใจตัวเอง (ในฐานะพ่อแม่) ได้มากยิ่งขึ้น

และนี่คือ 6 เรื่องที่ครูพิมอยากนำเสนอค่ะ

1) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่)ให้รู้ว่า : ความทรงจำทำหน้าที่ของมันเสมอ

ทุกๆ เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลก นับเป็น “ประสบการณ์” ที่จะฝังลึกอยู่ในความทรงจำ แม้ว่าเด็กๆ จะยังไม่มีความเข้าใจ แต่ความจำของพวกเขาทำงานอยู่เสมอค่ะ ดังนั้นใครที่คิดว่า “เด็กน่ะไม่รู้เรื่องหรอก” นั้นเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะในความเป็นจริง การกระทำของเราที่เด็กได้เห็น ได้สัมผัส ล้วนมีผลต่อความคิด ความรู้สึกของเขาทั้งสิ้น และสิ่งใดที่เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นประสบการณ์ซ้ำๆ ก็จะกลายเป็นความทรงจำหลัก ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัยของคนๆ นั้น อย่างเช่นที่ ไรลีย์ ตัวละครหลักในเรื่องมีลักษณะนิสัยหลัก 5 อย่าง หรือ เกาะแห่งบุคลิกภาพทั้ง 5 แบบที่ภาพยนตร์นำเสนอ โดยสาเหตุที่ไรลีย์มีบุคลิกภาพแบบนี้ก็เพราะสิ่งแวดล้อมรอบตัวและประสบการณ์ได้หล่อหลอมให้เธอเป็นนั่นเองค่ะ

2) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่)ให้รู้ว่า : ลูกคือบุคคลผู้สะท้อนความเป็นตัวเราได้ดีที่สุด

เมื่อเราเลือกใช้อารมณ์ใดกับลูก ลูกก็เลือกใช้อารมณ์เดียวกันนั้นโต้ตอบเช่นกัน (หรือในบางครั้งก็นำไปใช้กับเราหรือคนอื่นในสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกัน) แม้ว่าเหตุผลของการเลือกใช้อารมณ์นั้นๆ จะแตกต่างกันก็ตาม เหมือนอย่างเช่นในฉากที่ไรลีย์กับพ่อทะเลาะกันบนโต๊ะอาหารนั่นเอง ที่ต่างคนต่างเลือกให้อารมณ์โกรธเป็นใหญ่ ในส่วนนี้ผู้ปกครองลองสังเกตตัวเองกันนะคะว่า เราเองเลือกใช้การตอบสนองกับลูกแบบใด แล้วลูกตอบสนองกลับเช่นเดียวกับเราจริงหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้ว สิ่งที่เด็กแสดงออกมาก็แทบไม่แตกต่างจากสิ่งที่เราแสดงหรือเคยแสดงให้เขาเห็นหรอกค่ะ (ถึงได้มีสุภาษิตที่ว่า ดูวัวให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่ไงล่ะคะ)

3) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่)ให้รู้ว่า : เป็นผู้ใหญ่ก็ยอมรับผิดได้

และการยอมรับผิดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะลด “ความน่าเชื่อถือ”หรือเป็นการ “เสียศักดิ์ศรี”แต่อย่างใด ซ้ำยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบ และความกล้าหาญ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกอีกด้วย อย่างในเรื่องนี้ หลังจากที่พ่อรู้ตัวว่าพูดจากับลูกรุนแรงเกินไป เขาก็ตัดสินใจที่จะเข้าไปพูดคุยกับลูกและยอมรับผิด ซึ่งนี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ “ความสัมพันธ์ที่ดีและความเชื่อใจ”ที่ไรลีย์มีให้พ่อยังคงอยู่ (สังเกตได้ว่าหลังจากนั้นไรลีย์ไม่ได้มีความรู้สึกโกรธหรือเกลียดพ่อเหลืออยู่เลย)

ฉากที่ไรลีย์ทะเลาะกับพ่อบนโต๊ะอาหาร" ที่มา fox13now.com
ฉากที่ไรลีย์ทะเลาะกับพ่อบนโต๊ะอาหาร” ที่มา fox13now.com

4) เรื่องนี้สอนให้(พ่อแม่)รู้ว่า : คำชมไม่จำเป็นต้องถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ “พิเศษ” เท่านั้น

ฉากที่ครูพิมประทับใจและรู้สึก “ว้าว” มากฉากหนึ่ง ก็คือฉากที่แม่ของไรลีย์เข้ามาในห้องนอนของไรลีย์ พร้อมกับชมและขอบคุณที่เธอทำตัวดีและยังคงความสดใสร่าเริงไว้ แม้ว่าสถานการณ์ของครอบครัวจะดูเหมือนย่ำแย่ก็ตาม เราอาจจะเคยชินกับการจับผิดหรือตำหนิลูก แต่จงอย่าลืมว่าการกล่าวคำชมก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะทำให้พฤติกรรมดีๆ ของเด็กยังคงอยู่ และเป็นการบอกให้รู้ว่า เราไม่ได้ละเลยหรือไม่ใส่ใจในสิ่งดีๆ ที่เด็กๆ ได้ทำด้วยค่ะ ซึ่งในจุดนี้หนังทำได้ดีทีเดียว เพราะเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองหลายคนอาจจะลืมเลือนไป แต่หนังเรื่องนี้กลับไม่ลืมประเด็นนี้คล้ายกับว่าจะเป็นการย้ำเตือนเราทุกคน

5) เรื่องนี้สอน(พ่อแม่)ให้รู้ว่า : การเปลี่ยนแปลงที่อยู่เหนือการควบคุมอาจทำให้เด็กๆ หรือมนุษย์ทุกคนทำในสิ่งที่แตกต่างจากเดิมได้อย่างคาดไม่ถึง

หลายคนอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมเด็กหญิงผู้น่ารักและดูเหมือนจะมีความสุขกับชีวิตมาโดยตลอดอย่างไรลีย์ ถึงได้มีนิสัยเปลี่ยนไป แถมยังตัดสินใจที่จะหนีออกจากบ้าน ในจุดนี้ ครูพิมขออธิบายจากเรื่องราวของไรลีย์ว่า เธอนั้นอยู่ในช่วงชีวิตที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก ภายในคือ “การเปลี่ยนแปลงของช่วงวัย” (กำลังจะวัยรุ่นแล้ว) และภายนอกคือ “การย้ายถิ่นฐานอย่างกะทันหัน” สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด ความรู้สึกของเด็ก (และมนุษย์ทั่วไป) อย่างยิ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว หากเราไม่สามารถปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้ หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือให้เข้าใจหรือผ่านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็มักที่จะโหยหาหรือต้องการกลับไปยังจุดที่ให้ความรู้สึก “ปลอดภัย” มากที่สุด อย่างที่ไรลีย์เลือกทำนั่นเองค่ะ

6) เรื่องนี้สอนให้(พ่อแม่)รู้ว่า : ขึ้นชื่อว่าพ่อแม่ หน้าที่สำคัญก็คือ การสนับสนุนลูกทั้งทางกายและทางใจ

หลังจากที่ไรลีย์ล้มเลิกแผนการหนีออกจากบ้าน แล้วตัดสินใจกลับมาหาครอบครัว สิ่งที่พ่อและแม่ของไรลีย์ทำคือ “รับฟังปัญหา” และแสดงถึงความพร้อมที่จะ “ผ่านมันไปด้วยกัน’ ซึ่งนี่เป็นจุดที่อาจทำได้ยากในชีวิตจริง (คือยากที่จะควบคุมอารมณ์ไม่ให้เตลิดไปกับความโกรธหรือความสงสัยในตัวลูก) แต่นี่คือสิ่งที่เราจะต้องฝึกฝนและทำให้ดีที่สุดค่ะ เพราะการเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้น ไม่ได้วัดเพียงแค่ว่า เราเลี้ยงลูกของเราให้ “เป็นเด็กดี” แค่ไหน แต่การที่เราสามารถช่วยเหลือให้ลูกผ่านปัญหาชีวิตต่างๆ ไปได้ ก็เป็นงานที่ท้าทายและน่ายกย่องไม่แพ้กัน นอกจากนี้ ครูพิมยังเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น จะเป็นความทรงจำที่ดี หรือร้าย ก็ขึ้นอยู่กับว่ามันจบลงอย่างไร

และคงมีแต่ครอบครัวเท่านั้น ที่จะเป็นเรื่องราวแสนเศร้าให้กลายเป็นความทรงจำแสนสุขได้

อย่างเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับไรลีย์นั่นเอง…

อ้อมกอดอันอบอุ่นของพ่อแม่ที่มีให้หลังจากที่ไรลีย์ตัดสินใจกลับบ้าน" ที่มา mediaite.com
อ้อมกอดอันอบอุ่นของพ่อแม่ที่มีให้หลังจากที่ไรลีย์ตัดสินใจกลับบ้าน” ที่มา mediaite.com

สรุปว่าเรื่องนี้ทำเพื่อเด็กอย่างแท้จริงค่ะ (อย่างน้อยก็ในความคิดของครูพิม) เพราะไม่ใช่แค่ให้ความสนุกกับพวกเขาเท่านั้น แต่อาจจะทำให้เขาได้พ่อแม่ที่เข้าใจในตัวพวกเขามากขึ้นอีกด้วย

รัก
ครูพิม

Comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *